ปัญจวัคคีย์ เมื่อก่อนพุทธปรินิพพาน   ๔๕ ปีในวันเพ็ญพระจันทร์เสวยดาวฤกษ์ชื่อว่าวิสาขา คือวันเพ็ญเดือนวิสาขะ เป็นเวสาขะ ในราตรีวันพ็ญนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ พระธรรม ก่อนแต่ตรัสรู้เรียกว่า พระโพธิสัตว์ แปลว่าผู้ข้องอยู่ในความรู้  อันหมายความว่าไม่ทรงข้องอยู่ในสิ่งอื่น ข้องอยู่แต่ ในความรู้ จึงทรงแสวงหาความรู้ จึงเรียกว่า พุทธะ ที่แปลว่าผู้รู้ หรือตรัสรู้ เราเรียกกัน ว่าพระพุทธเจ้า พระองค์ได้ตรัสรู้ที่ภายใต้ ต้นไม้ชื่อว่า อัสสัตถะ ต่อมาก็เรียกว่า ต้น โพธิ์ คำว่า  โพธิ แปลว่า ตรัสรู้  เพราะ พระพุทธเจ้าไปประทับนั่งใต้ต้นไม้นั้นตรัสรู้ จึงได้เรียกว่า ต้นไม้ตรัสรู้ เรียกเป็นศัพท์ ว่า โพธิพฤกษ์ แต่ชื่อของต้นไม้ชนิดนี้ว่า อัสสัตถะ  ที่ตรัสรู้นั้นอยู่ใกล้ฝั่ง แม่น้ำ เนรัญชรา ในตำบล อุรุเวลา ใน มคธรัฐ

เมื่อตรัสรู้แล้วก็ได้ประทับนั่งเสวย วิมุตติสุขในที่ต่างๆ ใกล้กับโพธิพฤกษ์นั้น อยู่หลายสัปดาห์ ได้ทรงดำริถึงพระธรรม ที่ตรัสรู้ว่าเป็นของที่ลุ่มลึก ในชั้นแรกก็ทรง มีความขวนขวายน้อยว่าจะไม่ทรงแสดง ธรรมนั้น เพราะเห็นว่าคนเป็นอันมากจะไม่ เข้าใจ แต่ก็ได้ทรงพิจารณาดูหมู่สัตว์เห็น ว่าหมู่สัตว์นั้นมีต่างๆ กัน ผู้ที่จะตรัสรู้ได้ก็ มีอยู่ เทียบด้วยดอกบัวสามเหล่าที่จะบานได้  ผู้ที่ตรัสรู้ไม่ได้ก็มี อันเทียบด้วยดอกบัว อีกชนิดหนึ่งที่จมอยู่ก้นสระไม่มีหวังจะบาน และท่านแสดงว่าท้าวสหัมบดีได้มากราบทูลอาราธนา ทรงพิจารณาเห็นหมู่สัตว์ดั่ง กล่าวนั้นก็ทรงรับอาราธนาของพรหม เรื่อง นี้ก็ถอดความว่า ได้เกิดพระกรุณาขึ้นแก่ สัตว์โลก พระกรุณานั้นเองทำให้ทรงตกลง พระหฤทัยว่าจะทรงแสดงธรรมสอน

เมื่อได้ตกลงพระหฤทัยดั่งนี้ ก็ได้ทรง ทำ สังขาราธิษฐาน คือตั้งพระหฤทัยว่าจะ ทรงดำรงพระชนมชีพอยู่จนกว่าจะประกาศพระพุทธศาสนาตั้งลงได้โดยมั่นคง มี พุทธบริษัทบริบูรณ์ และได้ทรงพิจารณา ถึงบุคคลที่จะทรงแสดงธรรมะสั่งสอนเป็นครั้งแรก ได้ทรงระลึกถึงอาฬารดาบส และอุทกดาบส ซึ่งได้เคยเข้าไปทรงศึกษา อยู่ในชั้นแรก แต่ก็ได้ทรงทราบว่าท่านทั้ง สองนั้นถึงมรณภาพไปเสียแล้ว ต่อจากนั้น จึงได้ทรงระลึกถึงภิกษุ ๕ รูปอันเรียกว่า ปัญจวัคคีย์ แปลว่า  มีพวก  ๕ ซึ่งได้มา คอยเฝ้าปฏิบัติพระองค์อยู่ในเวลาที่ทรง บำเพ็ญทุกรกิริยา แต่ได้ทิ้งพระองค์ไปเสีย เมื่อทรงเลิกทุกรกิริยามาทรงบำเพ็ญเพียร ทางจิต ทรงทราบว่าภิกษุปัญจวัคคีย์เหล่า นั้นได้ไปพักอยู่ที่ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงกรุงพาราณสี จึงได้เสด็จออกจาก บริเวณโพธิพฤกษ์ที่ตรัสรู้ในตำบลอุรุเวลา เสด็จบ่ายพระพักตร์ไปสู่กรุงพาราณสีเพื่อ จะเสด็จไปยังตำบลที่ภิกษุทั้ง ๕ นั้นพักอยู่ ในตอนนี้พระอรรถกถาจารย์ได้แสดงว่า ได้เสด็จออกจากตำบลอุรุเวลาที่ตรัสรู้ใน ตอนเช้าของวันขึ้น  ๑๔ ค่ำเดือน  ๘ หน้า วันเข้าพรรษา คือได้เสด็จไปตอนเช้าของ วันโกน และก็ได้เสด็จถึงตำบลที่พระภิกษุ ปัญจวัคคีย์พักอยู่คืออิสิปตนมฤคทายวัน ในตอนเย็นวันนั้น แต่ถ้าดูระยะทางตาม แผนที่จากตำบลอุรุเวลาที่บัดนี้เรียกว่า พุทธคยา ไปถึงป่า อิสิปตนมฤคทายวัน ที่ บัดนี้เรียกว่า สารนาถ ก็เป็นหนทางถึง ร้อยไมล์เศษ ในคัมภีร์ชั้นบาลีไม่ได้กำหนด วัน เป็นแต่เพียงบอกว่าได้เสด็จไปโดย ลำดับเท่านั้น

ภิกษุปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ นั้น มีชื่อว่า ๑. โกณฑัญญะ ๒. วัปปะ  ๓.  ภัททิยะ  ๔. มหานามะ และ ๕. อัสสชิ โกณฑัญญะ เป็นหัวหน้า ท่านโกณฑัญญะผู้นี้ได้เป็น พราหมณ์คนหนึ่งในจำนวนพราหมณ์ ๑๐๘ คนที่มาประชุมทำนายพระลักษณะ เมื่อพระพุทธเจ้าได้ประสูติแล้ว ๕ วัน พราหมณ์เหล่านี้พากันทำนายว่าพระองค์ จะมีคติเป็น ๒ คือ ถ้าอยู่ครองฆราวาสจะ ได้เป็นพระจักรพรรดิพระราชาเอกในโลก แต่ถ้าออกทรงผนวชจะได้เป็นศาสดาเอก ในโลก ส่วนท่านโกณฑัญญะเป็นพราหมณ์ หนุ่มที่สุดในหมู่พราหมณ์นั้นได้ทำนายไว้ คติเดียวว่าจะเสด็จออกทรงผนวช และจะ ได้เป็นศาสดาเอกในโลก เพราะฉะนั้นจึง ได้คอยฟังข่าวพระโพธิสัตว์อยู่เสมอจนเมื่อ พระโพธิสัตว์เสด็จออกทรงผนวช ท่าน โกณฑัญญะก็ได้ชักชวนบุตรของพราหมณ์ ที่มาประชุมทำนายพระลักษณะในคราวนั้น ได้อีก ๔ คน รวมกันเป็น ๕ คน ออกบวช คอยติดตามพระพุทธเจ้า และเมื่อพระพุทธเจ้าได้ไปทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา ก็เป็น ที่สบอัธยาศัยของท่านทั้ง  ๕ นั้นซึ่งนิยมใน ทางนั้น ก็พากันไปคอยเฝ้าปฏิบัติ ครั้น พระองค์ได้ทรงเลิกละเสียแล้ว ท่านทั้ง ๕ นั้นก็เห็นว่าพระองค์ได้ทรงเวียนมาเป็นผู้ มักมาก จะไม่สามารถตรัสรู้พระธรรมได้ ก็ พากันหลีกไปพักอยู่ที่ตำบลอิสิปตนมฤคทายวันนั้น

เมื่อภิกษุปัญจวัคคีย์ได้เห็นพระพุทธเจ้าเสด็จมาแต่ไกลก็นัดหมายกันไม่ให้ลุก ต้อนรับ ไม่ให้ทำการอภิวาท แต่ให้ปูอาสนะ ไว้ ถ้าทรงประสงค์จะนั่งก็นั่ง แต่ถ้าไม่ทรง ประสงค์ก็แล้วไป แต่ครั้นพระพุทธเจ้าเสด็จ มาถึงเข้า ต่างก็ลืมกติกาที่ตั้งกันไว้ พากัน ลุกขึ้นรับและอภิวาทกราบไหว้ และนำน้ำ ล้างพระบาท ตั่งรองพระบาท ผ้าเช็ด พระบาทมาคอยปฏิบัติ พระพุทธเจ้าได้ เสด็จประทับอาสนะ ทรงล้างพระบาทแล้ว พวกภิกษุปัญจวัคคีย์ก็พากันเรียกพระองค์ ด้วยถ้อยคำตีเสมอ คือเรียกพระองค์ว่า อาวุโส ที่แปลว่า  ผู้มีอายุ  หรือแปลกันอย่างภาษาไทยว่า คุณ พระพุทธเจ้าทรง ตรัสห้าม และได้ตรัสว่า “ ตถาคตมาก็เพื่อ จะแสดงอมตธรรมให้ท่านทั้งหลายฟังเมื่อท่านทั้งหลายตั้งใจฟังและปฏิบัติโดย ชอบก็จะเกิดความรู้จนถึงที่สุดทุกข์ได้” ภิกษุปัญจวัคคีย์กราบทูลคัดค้านว่า เมื่อ ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยายังไม่ได้ตรัสรู้ เมื่อ ทรงเลิกเสียจะตรัสรู้ได้อย่างไร พระพุทธเจ้าก็ยังทรงตรัสยืนยันเช่นนั้น และพวก ภิกษุปัญจวัคคีย์ก็คงคัดค้านเช่นนั้นถึง ๓ ครั้ง พระพุทธเจ้าจึงตรัสให้ระลึกว่า แต่ ก่อนนี้พระองค์ได้เคยตรัสพระวาจาเช่นนี้ หรือไม่ พวกภิกษุปัญจวัคคีย์ก็ระลึกขึ้นได้ ว่าพระองค์ไม่เคยตรัสพระวาจาเช่นนี้ เมื่อ เป็นเช่นนี้จึงได้ยินยอมเพื่อที่จะฟังธรรม พระพุทธเจ้าเมื่อทรงเห็นว่าพวกภิกษุปัญจวัคคีย์พากันตั้งใจเพื่อที่จะฟังพระธรรมของ พระองค์แล้ว จึงได้ทรงแสดง ปฐมเทศนา คือเทศนาทีแรกโปรดภิกษุปัญจวัคคีย์ ท่าน แสดงว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงปฐมเทศนานี้ในวันรุ่งขึ้นจากที่ได้เสด็จไปถึง คือ ได้ทรงแสดงในวันเพ็ญของเดือนอาสาฬหะ หรือเดือน  ๘ หน้าวันเข้าพรรษาซึ่งเป็นวัน ที่ได้ประกอบพิธี อาสาฬหบูชา ดังที่ได้ กำหนดตั้งขึ้นเป็นบูชาวันหนึ่ง

เมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงปฐมเทศนาแล้ว ท่านแสดงว่า ธรรมจักษุ คือ ดวงตาเห็นธรรม ได้เกิดแก่พระโกณฑัญญะ ซึ่งเป็นหัวหน้าพวกภิกษุปัญจวัคคีย์ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็น ธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็น ธรรมดา คำนี้บ่งว่าท่านได้เห็นทุกขสัจแจ้ง ขึ้น เพราะความหมายของทุกข์ประการที่ ๑ คือ สิ่งที่ทนอยู่ไม่ได้ อันหมายถึงว่าสิ่ง ที่ต้องเกิด ต้องดับ เมื่อท่านได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว ท่านก็ขอบวชต่อพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสอนุญาตว่า เอห ภิกขุ จงเป็นภิกษุมาเถิด   ธรรมะอันเรา กล่าวดีแล้ว จงประพฤติปฏิบัติเพื่อสิ้น ทุกข์โดยชอบเถิด” ด้วยพระวาจาเพียง เท่านี้ก็เป็นอันว่าท่านได้รับอุปสมบทจาก พระพุทธเจ้า และอุปสมบทอย่างนี้เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสมฺปทา แปลว่าการอุปสมบท ด้วยพระพุทธวาจาว่าจงเป็นภิกษุมาเถิด

พระสูตรนี้ท่านเรียกว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แปลว่าพระสูตรที่แสดงถึงเรื่อง การยังจักรคือธรรมให้เป็นไป เทียบกับ จักรของพระเจ้าจักรพรรดิ พระเจ้าจักรพรรดินั้นท่านแสดงว่ามี รัตนะ ๗ ได้แก่ จักกรัตนะ จักรแก้ว หัตถิรัตนะ ช้างแก้ว อัสสรัตนะ ม้าแก้ว มณิรัตนะ มณีแก้ว อิตถีรัตนะ สตรีแก้ว คหปติรัตนะ คฤหบด แก้ว ปริณายกรัตนะ นายกแก้ว  เป็น เครื่องทำให้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ คือเป็น เจ้าโลก เทียบในปัจจุบันก็หมายความว่า ถ้าจะมีอุปกรณ์และบุคคลอันใดที่จะทำให้ใครๆ มีอำนาจเหนือบุคคลทั้งโลกจนเป็น เจ้าโลกได้ ก็พอเรียกว่าเป็นรัตนะได้ ความ คิดว่าจะต้องมีเจ้าโลกได้มีมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ในบัดนี้ก็พยายามที่จะเป็นกันอยู่ ก็สุดแต่ว่าใครจะมีอะไรเหนือคนทั้งโลก ในรัตนะ ๗ นั้น จักกรัตนะของพระเจ้า จักรพรรดิเป็นตัวอำนาจสำคัญที่ทำให้เป็น เจ้าโลก ถ้าเทียบกับในทางบ้านเมืองก็ หมายถึงว่าอาณาจักร คือชาติไหนจะเป็น ประเทศชาติของตัวขึ้นก็จะต้องมีอาณาจักร คืออำนาจ พระพุทธเจ้าจะตั้งพระพุทธศาสนาขึ้นก็ทรงเริ่มด้วยการแสดงปฐมเทศนา

เท่ากับทรงตั้ง พุทธจักร ขึ้นเป็น ครั้งแรกด้วย ปฐมเทศนา นี้ แต่ว่าจักรของพระพุทธเจ้าไม่ใช่อำนาจทางโลก หมายถึงธรรม ทรงตั้งพุทธจักรขึ้นด้วย ธรรมเป็นอันเริ่มตั้งขึ้นด้วยปฐมเทศนานี้เมื่อท่านพระอัญญาโกณฑัญญะได้เกิด ดวงตาเห็นธรรม และได้เป็นพระภิกษุองค์ แรกในพระพุทธศาสนาแล้ว พระบรมศาสดาได้ตรัสอบรมอีก ๔ รูปด้วยธรรมะ เบ็ดเตล็ดต่างๆ ต่อมาท่านวัปปะ และท่าน ภัททิยะได้เกิดดวงตาเห็นธรรม และได้ทูล ขออุปสมบท ก็ได้รับการอุปสมบทจาก พระพุทธเจ้าเช่นเดียวกับท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ พระพุทธเจ้าได้อบรมอีก ๒ ท่าน ท่านที่ได้อุปสมบทแล้ว ๓ ท่านก็เป็น ผู้ไปบิณฑบาตมาเลี้ยงรวมกันทั้ง ๖ ต่อมา ท่านมหานามะกับท่านอัสสชิก็ได้เกิดดวงตา เห็นธรรม และได้ทูลขออุปสมบท ก็ได้รับ การอุปสมบทเช่นเดียวกัน แต่ในอรรถกถา ได้กล่าวว่า ท่านวัปปะได้ดวงตาเห็นธรรม และได้อุปสมบทในวันแรม ๑ ค่ำ ท่าน ภัททิยะในวันแรม  ๒ ค่ำ ท่านมหานามะ ในวันแรม  ๓ ค่ำ ท่านอัสสชิในวันแรม  ๔ ค่ำ ส่วนในชั้นบาลีได้กล่าวไว้เป็นคู่กันดั่งที่ เล่ามาทีแรก เมื่อท่านทั้ง ๕ ได้ดวงตาเห็น ธรรมและได้อุปสมบทเป็นภิกษุเรียบร้อย พร้อมกันแล้ว  ในวันแรม  ๕ ค่ำแห่งเดือน สาวนะ  ที่ตรงกับวันแรม  ๕ ค่ำ เดือน ๘ ตามที่นับในประเทศไทย พระบรมศาสดา ก็ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ ๒ อันเรียกว่า อนัตตลักขณสูตร แปลว่า พระสูตรที่แสดง ลักษณะคือเครื่องกำหนดหมายว่าเป็น อนัตตา  มิใช่อัตตาตัวตน พระพุทธเจ้าได้ ทรงชี้ลักษณะว่าเป็น อนัตตา คือไม่ใช่ ตัวตนอย่างไรแล้ว ต่อจากนั้นก็ได้ตรัสถาม ความรู้ความเข้าใจของท่านทั้ง   ๕ นั้นว่า ปัญจขันธ์เที่ยงหรือไม่เที่ยง ท่านทั้งห้าก็กราบทูลตอบว่าไม่เที่ยง ตรัสถามว่า สิ่งใด ไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข ท่าน ทั้ง ๕ ก็กราบทูลตอบว่า  เป็นทุกข์ ก็ตรัส ถามว่า  สิ่งใดเป็นทุกข์ มีการแปรปรวนไป เป็นธรรมดา ควรหรือที่จะเห็นสิ่งนั้นว่า นี่ เป็นของเรา เราเป็นนี่  นี่เป็นอัตตาตัวตน ของเรา ท่านทั้ง ๕ นั้นก็กราบทูลว่า  ไม่ควร เห็นอย่างนั้น

ในตอนนี้เรียกว่าเป็น การสอบครั้งแรก ในพระพุทธศาสนา คือพระพุทธเจ้าได้ ตรัสสอบถามท่านปัญจวัคคีย์ถึงความรู้ ความเห็นของท่านในเมื่อฟังเทศน์แล้ว นี้ นับว่าเป็นการสอบไล่ครั้งแรก และในข้อสอบที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตั้งขึ้นถามนี้ ก็ เป็นอันตรัสถามในหลักของ ไตรลักษณ์ ลักษณะเครื่องกำหนดหมาย ๓ อย่าง อัน ได้แก่ อนิจฺจํ ไม่เที่ยง ทุกฺขํ เป็นทุกข์ อนตฺตา ไม่ใช่อัตตาตัวตน ได้ทรงแสดง ลักษณะแห่งอนัตตาก่อนดั่งที่กล่าวมาแล้ว จึงได้ตรัสสอบถามว่าปัญจขันธ์ที่กล่าวมา แล้วนั้น คือว่าที่เป็นไปเพื่ออาพาธและที่ ใครๆ จะบังคับให้เป็นไปตามความปรารถนา ไม่ได้นั้น เป็น นิจจํ คือเป็นสิ่งเที่ยง หรือ เป็น อนิจจํ คือเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง ท่านทั้ง ๕ ก็กราบทูลตอบว่าเป็น อนิจจํ คือเป็น สิ่งที่ไม่เที่ยง เพราะว่าถ้าเป็นสิ่งที่เที่ยง แล้วจะต้องเป็นสิ่งที่ไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ และบังคับได้ แต่นี่ไม่เป็นเช่นนั้น จึงเป็น อนิจฺจํ คือสิ่งที่ไม่เที่ยง และเมื่อไม่เที่ยงก็ เป็นทุกข์ ลักษณะที่ชื่อว่าเป็นทุกข์ในที่นี้ ท่านก็กล่าวไว้เองว่า คือมีความแปรปรวน ไปเป็นธรรมดา เพราะคำว่าทุกข์แปลว่า สิ่งที่ทนอยู่ยาก หมายความว่าทนอยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นลักษณะที่ชื่อว่าเป็นทุกข์นั้นก็ คือลักษณะที่ทนอยู่ไม่ได้ คืออย่างไรก็ต้องแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ความแปรปรวน ไปเป็นธรรมดานี้ เรียกตามศัพท์ว่า วิปริณามธรรม นี้เป็นอีกคำหนึ่งที่จะได้เห็นใน หนังสือทางพระพุทธศาสนาหรือในทาง เทศนาเป็นอันมาก วิปริณามธรรมแปลว่า แปรปรวนไปเป็นธรรมดา สิ่งที่เป็นอนิจจัง คือไม่เที่ยง สิ่งที่เป็นทุกข์มีความแปรปรวน ไปเป็นธรรมดา ก็เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเห็นว่า เอต  มม นี่เป็น ของเรา เอโสหมสฺมิ เราเป็นนี่ อโส เม อตฺตา นี่เป็นอัตตาคือตัวตนของเรา เพราะ ฉะนั้นไตรลักษณ์นี้จึงเป็นสิ่งที่เนื่องเป็นอัน เดียวกัน อันจะพึงกล่าวได้ว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นก็เป็น อนัตตา หรือจะกล่าวกลับกันว่า สิ่งใดเป็น อนัตตาสิ่งนั้นก็ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ดั่งนี้ก็ได้ เพราะก็อยู่ในลักษณะที่เนื่องกัน ฉะนั้นใน ตอนที่พระพุทธเจ้าตรัสสอบถามนี้จึงเป็น อันได้ตรัสสอบถามในหลักไตรลักษณ์ เป็น อันได้ทรงแสดงหลักไตรลักษณ์ในพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรกด้วย

เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสสอบถาม และ พระปัญจวัคคีย์ก็ได้กราบทูลตอบ แสดงว่า ได้มีความรู้ความเห็นถูกต้องแล้ว จึงได้ ตรัสสรุปความว่าปัญจขันธ์ โดยกาลคือ เป็นอดีตล่วงมาแล้วก็ตาม เป็นอนาคตยัง ไม่มาถึงก็ตาม เป็นปัจจุบันก็ตาม โดยที่ตั้ง เป็นส่วนภายในก็ตาม เป็นส่วนภายนอก ก็ตาม โดยวัตถุ เป็นของหยาบก็ตาม เป็น ของละเอียดก็ตาม  โดยคุณภาพ เป็นของ เหลวก็ตาม เป็นของประณีตก็ตาม โดย ระยะไกล เช่นว่าล่วงมาแล้ว หรือว่ายังไม่ มาถึงก็ตาม หรือว่าอยู่ใกล้ เช่นว่าเป็น ปัจจุบันก็ตาม ทั้งหมดก็สักแต่ว่าเป็นรูป เป็นเวทนา เป็นสัญญา  เป็นสังขาร  เป็นวิญญาณ ควรที่จะเห็นปัญญาอันชอบตาม ที่เป็นแล้วว่านี่ไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนี่ นี่ไม่ใช่อัตตาตัวตนของเรา

เมื่อตรัสสรุปดังนี้แล้ว ก็ได้ตรัสผลที่ สืบเนื่องจากความรู้ความเห็นชอบดั่งกล่าว มานั้นว่า อริยสาวกผู้สดับแล้วอย่างนี้ คือ ว่ามีปัญญาชอบตามที่เป็นแล้วอย่างนี้ ย่อม มีความหน่ายในรูป  เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เมื่อหน่ายก็ย่อมสิ้นกำหนัดคือว่า สิ้นราคะ เมื่อสิ้นราคะก็ย่อมวิมุตติหลุดพ้น เมื่อวิมุตติหลุดพ้นก็ย่อมมีญาณ คือความรู้ ที่ว่าพ้นแล้ว เป็นอันว่าได้ทรงแสดงธรรมะ ในส่วน    โลกุตตรธรรม ได้ธรรมคือ สัมมัปปัญญา ความรู้ชอบ นิพพิทา ความหน่าย วิราคะ ความสิ้นราคะ วิมุตติ ความหลุดพ้น วิมุตติญาณทัสสนะ ความรู้เห็นว่า หลุดพ้น

ธรรมะเหล่านี้เป็นธรรมะที่เป็นหลักทั้ง นั้น ต้องมีสัมมัปปัญญา คือมีความรู้ชอบ ตามที่เป็นแล้วในปัญจขันธ์ก่อน จึงจะเกิด นิพพิทาคือความหน่ายขึ้น เมื่อเกิดนิพพิทา คือความหน่ายจึงจะเกิด วิราคะ คือสิ้นราคะ สิ้นความติด สิ้นความยินดี สิ้น ความกำหนัด เมื่อเกิดวิราคะจึงจะเกิด วิมุตติความหลุดพ้นจากความยึดถือว่า เป็นของเรา เป็นตัวตนของเรา  ดั่งกล่าว มาแล้ว เมื่อเกิดวิมุตติจึงจะเกิด วิมุตติญาณทัสสนะ ความรู้เห็นว่าพ้นแล้ว เมื่อ ถึงตอนนี้จึงจะเป็นผู้เสร็จกิจ ลำดับธรรมะ นี้ควรกำหนดไว้โดยชื่อด้วย และทำความ เข้าใจด้วย จึงจะเข้าใจพระพุทธศาสนาได้ ถึง     ปรมัตถธรรมทั่วๆ ไปในหนังสือทั้งปวง หรือในเทศนาทั้งปวง

ฉะนั้นจะได้กล่าวสรุปในตอนนี้อีกสัก หนหนึ่งคือ  เบื้องต้นต้องศึกษาให้รู้จักปัญจขันธ์ว่า มีลักษณะหน้าตาเป็นอย่างไร ต่อไปก็ศึกษาให้รู้จักไตรลักษณะที่เป็นไปใน ปัญจขันธ์นั้น คือ อนิจจจะ ทุกขะ อนัตตา เมื่อเกิดสัมมัปปัญญา คือความรู้ชอบตาม ที่เป็นแล้วในปัญจขันธ์ คือปัญจขันธ์เป็น อย่างไรก็ให้รู้อย่างนั้น ไม่ใช่ตามสัญญา หรือว่าแกล้งรู้ รู้ไปตามที่เป็นแล้วอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้จึงจะเกิดนิพพิทา วิราคะ วิมุตติ และวิมุตติญาณทัสสนะดั่งกล่าว โดยลำดับ อันนี้เป็นหลักธรรมะ  เมื่อมี ความเข้าใจตลอดสายอย่างนี้ ก็จะเข้าใจ พระพุทธศาสนาในส่วนปรมัตถธรรมทั่วๆ ไปด้วย

ในท้ายพระสูตรแสดงว่า เมื่อพระปัญจวัคคีย์ได้สดับพระสูตรนี้แล้ว ก็มีจิต ปีติโสมนัส จิตของท่านทั้ง  ๕ ก็พ้นจาก อาสวะ คือกิเลสที่ดองนอนจมหมักหมมอยู่ ในสันดาน จึงได้บังเกิดเป็นพระอรหันต์ขึ้น ๖ รูปในโลก พระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ รูปแรก ท่านพระปัญจวัคคีย์ที่ฟังอนัตตลักขณสูตรจนจิตพ้นจากอาสวกิเลส สำเร็จ เป็นพระอรหันต์อีก ๕ รูป ก็รวมเป็น ๖ รูป ด้วยกัน  พระพุทธเจ้าได้ชื่อว่าเป็น พระพุทธรัตนะ รัตนะคือพระพุทธเจ้า   พระธรรมไดชื่อว่า พระธรรมรัตนะ รัตนะคือ พระธรรม พระปัญจวัคคีย์ซึ่งสำเร็จเป็น พระอรหันต์ขึ้นมานั้นได้ชื่อว่า สังฆรัตนะ รัตนะ

คือพระสงฆ์  รัตนะทั้ง ๓ จึงเกิดขึ้น บริบูรณ์ในวันนั้น ท่านแสดงว่าวันนั้นเป็น วันแรม ๕ ค่ำแห่งเดือนสาวนะ  ซึ่งตรงกับ วันแรม  ๕ ค่ำ  เดือน  ๘ ตามที่นับใน ประเทศไทย ฉะนั้นในวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๘ จึงเป็นวันที่รัตนะทั้ง  ๓ เกิดขึ้นบริบูรณ์ ในโลก

ส่วนวันเพ็ญเดือน อาสาฬหะ ซึ่งเป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงปฐมเทศนา นั้น ท่านพระโกณฑัญญะรูปเดียวได้เกิด ดวงตาเห็นธรรมซึ่งท่านได้กล่าวไว้ว่า ได้ สำเร็จเป็นพระโสดาบัน ยังไม่สำเร็จเป็น พระอรหันต์ และก็ได้ขอบวชเป็นภิกษุใน พระพุทธศาสนาเพียงรูปเดียว ก็ชื่อว่าเป็น วันที่เริ่มจะมีพระสังฆรัตนะในชั้นแรกเท่านั้น ยังไม่บริบูรณ์ แต่ก็ชื่อว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงเทศนาครั้งแรก เป็นวันที่ ได้เริ่มตั้ง พุทธจักร ขึ้นในโลก ต่อมาเมื่อ ถึงวันแรม  ๕ ค่ำ  เดือน  ๘ จึงเป็นวันที่ รัตนะทั้ง ๓ เกิดขึ้นบริบูรณ์ในโลก

พระสูตรนี้มีใจความโดยย่อ ดังต่อไปนี้

ตอนที่ ๑ พระบรมศาสดาได้ทรงแสดง รูป เวทนา สัญญา  สังขาร วิญญาณว่า เป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน ถ้าทั้งห้านี้ พึงเป็นอัตตาตัวตน ทั้งห้านี้ก็พึงไม่เป็นไป เพื่ออาพาธ และบุคคลก็จะพึงได้ในส่วน ทั้งห้านี้ว่า ขอให้เป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้ เป็นอย่างนั้นเลย แต่เพราะเหตุว่าทั้งห้านี้ มิใช่อัตตาตัวตน ฉะนั้นทั้งห้านี้จึงเป็นไป เพื่ออาพาธ และบุคคลก็ย่อมไม่ได้ในส่วน ทั้งห้านี้ว่าขอให้เป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็น อย่างนั้นเลย

ตอนที่ ๒ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบ ความรู้ความเห็นของท่านทั้งห้านั้น ตรัส ถามว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งห้านี้เที่ยงหรือไม่เที่ยง ท่านทั้งห้าทูล ตอบว่าไม่เที่ยง ตรัสถามอีกว่า  สิ่งใดไม่ เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข   ท่านทั้ง ห้ากราบทูลว่าเป็นทุกข์ ก็ตรัสถามต่อไปว่า สิ่งใดไม่เที่ยงเป็นทุกข์มีความแปรปรวนไป เป็นธรรมดา ควรหรือจะเห็นสิ่งนั้นว่านี่ เป็นของเรา เราเป็นนี่ นี่เป็นตัวตนของเรา ท่านทั้งห้ากราบทูลว่าไม่ควรเห็นอย่างนั้น

ตอนที่  ๓ พระพุทธเจ้าได้ตรัสสรุปลง ว่า รูป  เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งห้าที่เป็นส่วนอดีตก็ดี เป็นส่วนอนาคต ก็ดี เป็นส่วนปัจจุบันก็ดี เป็นส่วนภายในก็ดี เป็นส่วนภายนอกก็ดี ในส่วนหยาบก็ดี เป็นส่วนละเอียดก็ดี เป็นส่วนเลวก็ดี เป็น ส่วนประณีตก็ดี อยู่ในที่ไกลก็ดี อยู่ในที่ ใกล้ก็ดี ทั้งหมดก็สักแต่ว่าเป็นรูป  เป็น เวทนา เป็นสัญญา  เป็นสังขาร  เป็นวิญญาณ ควรเห็นด้วยปัญญาชอบตามที่เป็น แล้วว่า นี่ไม่ใช่ของเรา เราไม่ใช่นี่ นี่ไม่ใช่ ตัวตนของเรา

ตอนที่ ๔ พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงผล ที่เกิดแก่ผู้ฟังและเกิดความรู้เห็นชอบดั่ง กล่าวมานั้นต่อไปว่า อริยสาวกคือผู้ฟังผู้ ประเสริฐ ซึ่งได้สดับแล้วอย่างนี้ย่อมเกิด นิพพิทา  คือความหน่ายในรูป หน่ายใน เวทนา หน่ายในสัญญา  หน่ายในสังขาร หน่ายในวิญญาณ เมื่อหน่ายก็ย่อมสิ้นราคะ คือสิ้นความติด  ความยินดี ความกำหนัด เมื่อสิ้นราคะ ก็ย่อมวิมุตติคือหลุดพ้น เมื่อ วิมุตติก็ย่อมมีญาณ คือความรู้ว่าวิมุตติ หลุดพ้นแล้ว และย่อมรู้ว่าชาติคือความ เกิดสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว  กิจที่ ควรทำได้ทำสำเร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นที่จะพึง ทำเพื่อความเป็นเช่นนี้อีกต่อไป

พระธรรมสังคาหกาจารย์ หรือ พระอาจารย์ผู้ทำสังคายนาร้อยกรองตั้งเป็น พระบาลีไว้ ได้กล่าวไว้ในตอนท้ายพระสูตร ว่า เมื่อท่านทั้ง ๕ ได้สดับสูตรนี้จบแล้วก็ มีใจปีติโสมนัสแนบแน่น จิตของท่านทั้ง ๕ ก็พ้นจากอาสวกิเลส คือได้สำเร็จเป็น พระอรหันต์ทั้ง ๕ รูป

พระสูตรที่  ๒ นี้มีใจความดังที่ย่อมา กล่าวนั้น แต่ก็ควรทำความเข้าใจสืบต่อไป

จุดมุ่งของพระสูตรนี้ ต้องการที่จะชี้ อนัตตา เพราะได้มีความเข้าใจในเรื่อง อัตตาที่แปลกันว่าตัวตน และมีความเชื่อ มั่นกันอยู่หลายอย่าง แต่เมื่อสรุปแล้วก็มัก จะมี ทิฏฐิ คือ ความเห็น กันอยู่ ๒ อย่าง คือ สัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าเที่ยงอย่าง  ๑ อุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าขาดสูญอย่าง ๑ สัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าเที่ยงนั้น  คือเห็น ว่าในปัจจุบันชาตินี้ก็มีอัตตาคือตัวตน เมื่อ สิ้นชีวิตไปแล้วอัตตาคือตัวตนก็ยังไม่สิ้น ยังจะมีสืบภพชาติต่อไป มีชาติหน้าต่อไป ไม่มีขาดสูญ แปลว่ามีอัตตาคือตัวตนยืนที่ ตลอดไป นี้เรียกว่า  สัสสตทิฏฐิ คือความ เห็นว่าเที่ยง ส่วนที่มีความเห็นว่าขาดสูญ อันเรียกว่าอุจเฉททิฏฐินั้น คือเห็นว่ามี อัตตาตัวตนอยู่แต่ในปัจจุบันชาตินี้เท่านั้น เมื่อสิ้นชีวิตไปแล้วอัตตาตัวตนก็สิ้นไป ไม่มี อะไรเหลืออยู่ที่จะให้ไปเกิด ดั่งที่เห็นว่า ตายสูญ  นี่เรียกว่าอุจเฉททิฏฐิ ความเห็น ว่าขาดสูญ ในทางพระพุทธศาสนาแสดง ว่าความเห็นทั้ง  ๒  นี้เป็น มิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นผิดทั้ง ๒ อย่าง คือเห็นว่าเที่ยง  ก็ผิด เห็นว่าขาดสูญก็ผิด เพราะทางพระพุทธศาสนาไม่ยอมชี้ว่ามีอะไรเป็นอัตตา คือตัวตน  ที่จะให้เป็นที่ตั้งของอุปาทาน คือ ความยึดถืออยู่ในสิ่งนั้น เมื่อยังมีอุปาทาน คือความยึดถืออยู่ ก็ยังไม่สิ้นกิเลสและสิ้น ทุกข์ เพราะความยึดถืออยู่นั้นเป็นตัวกิเลส แต่ว่าได้แสดงเป็นหลักเหตุผลในปฏิจจสมุปบาท ยกมากล่าวเฉพาะที่เกี่ยวข้องว่า เมื่อยังมีอวิชชาเป็นต้น ก็ยังต้องมีชาติคือ ความเกิด เมื่อสิ้นอวิชชาเป็นต้นก็สิ้นชาติ คือความเกิด ทางพระพุทธศาสนาแสดง เหตุผลดั่งนี้ และไม่ชี้ด้วยว่าจะเป็นชาติ อดีต ชาติอนาคต หรือชาติปัจจุบัน สุดแต่ว่าจะยังมีเหตุมีผลดั่งกล่าวนี้สัมพันธ์กัน อยู่อย่างไรเท่านั้น กาลเมื่อไรไม่เป็นข้อ สำคัญ สำคัญอยู่แต่ว่าเมื่อยังมีเหตุก็มีผล เมื่อสิ้นเหตุก็สิ้นผล

คราวนี้ผู้ที่ยังมีความเห็นว่ามี อัตตา คือมี ตัวตน นั้น จะเป็นอัตตาคือตัวตน เฉพาะในปัจจุบัน หรือจะสืบต่อไปใน อนาคตก็ตาม ก็จะต้องมีความเห็นสืบต่อ ไปว่าอะไรคืออัตตาตัวตน โดยมากนั้นย่อม มีความยึดถืออยู่ในรูปบ้าง ในเวทนาบ้าง ในสัญญาบ้าง ในสังขารบ้าง ในวิญญาณ บ้าง ว่าเป็นอัตตาคือตัวตน

รูปนั้นก็ได้แก่รูปกายทั้งหมด ที่ประกอบด้วยอาการต่างๆ ทั้งภายนอกทั้งภายใน ดั่งที่เรียกว่าอาการ ๓๑ หรือ ๓๒ หรือจะ แยกให้ละเอียดไปกว่านั้นในทางสรีรวิทยา ก็ตาม หรือว่าจะกล่าวโดยสรุปก็ได้แก่ มหาภูตรูป รูปที่เป็นใหญ่  มุ่งถึงส่วนที่เป็น ธาตุทั้ง ๔ และ อุปทายรูป รูปอาศัย  เช่น ประสาทต่างๆ ที่อาศัยอยู่กับรูปใหญ่นั้น ก็ตาม ทั้งหมดรวมเรียกว่ารูป เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า  รูปขันธ์ แปลว่า กองรูป  หรือ หมวดรูป เพราะว่ามีลักษณะอาการมีส่วน ประกอบมากมายด้วยกัน ตามตำราศัพท์ เล่าว่า ครั้งเดิมทีเดียว คนเราสังเกตเอาว่า เมื่อหัวใจยังเต้นตุ๊บๆ อยู่ ก็ยังมีชีวะหรือยัง มีอัตตาตัวตนอยู่ เมื่อดับลมหายใจเสียแล้ว ก็สิ้นชีวะ อัตตาตัวตนก็ดับ  จึงเรียกลมหายใจว่า อัตตา ในสันสกฤตเรียกว่า อาตมัน บาลีก็เป็นอัตตา  อาตมันนี้ก็ไปตรง กับศัพท์กิริยาในภาษาเยอรมันแปลว่า หายใจเหมือนกัน แล้วก็เขียนอ่านว่าเป็น อาตมันเหมือนอย่างสันสกฤต นี่แสดงว่า คนครั้งดั้งเดิมนั้น เข้าใจว่าอัตตาก็อยู่ที่ลม หายใจนี่แหละตั้งชื่อเรียกว่าอาตมัน มาตรงกับบาลีว่า อัตตา นี่เข้าใจแต่รูปเท่านี้

อนึ่ง ก็เข้าใจว่าอัตตาอยู่ที่เวทนา เวทนาก็ได้แก่ความเสวยอารมณ์ เป็นสุข บ้าง เป็นทุกข์บ้าง เป็นกลางๆ  ไม่ทุกข์ไม่ สุขบ้าง เวทนามีมากด้วยกัน  จึงเรียกว่า เวทนาขันธ์ กองเวทนา คือว่าเมื่อรู้จักคิด เข้าก็คิดสืบไปว่า ลำพังรูปแม้จะยังหายใจ อยู่ ถ้าไม่มีเวทนาก็ยังไม่รู้สึกว่าเป็นทุกข์ เป็นสุขอย่างไร แต่ว่าเพราะมีเวทนานี่ แหละ จึงจะรู้สึกว่าเป็นสุขเป็นทุกข์ ฉะนั้น จึงได้เลื่อนความเข้าใจว่า อัตตาคือตัวตน นั้นก็ได้แก่เวทนานี่เองเพราะว่าเป็นสภาพ ที่คอยกินสุขกินทุกข์  และก็แปล อัตตา ว่า ผู้กิน อันหมายความว่า กินสุขกินทุกข์ ก็ได้แก่เวทนานี่เอง

อนึ่ง มีความเข้าใจเลื่อนไปถึงสัญญา สัญญาก็ได้แก่ความจำหมาย คือความจำ ได้หมายรู้ต่างๆ มีมากด้วยกัน จึงเรียกว่า สัญญาขันธ์ แปลว่า กองสัญญา หรือว่า หมวดสัญญา เห็นว่าลำพังแต่กินสุขกิน ทุกข์ กินแล้วก็ลืม จำอะไรไว้ไม่ได้ก็ไม่ยั่งยืน อะไร ความยั่งยืนมาอยู่ที่ความจำได้หมายรู้ ฉะนั้นสัญญาคือความจำได้หมายรู้จึงเป็น อัตตาตัวตน

อนึ่ง มีความคิดเลื่อนไปอีกว่าสังขาร คือความคิดปรุงหรือความปรุงคิด เป็น อัตตาคือตัวตน เพราะลำพังสัญญาคือ ความจำได้หมายรู้นั้นก็สักแต่ว่าจำๆ เท่านั้น ถ้าจำแล้วไม่เอาไปคิดอ่านให้เป็นเรื่องเป็น ราวอะไรต่อไป ก็ไม่ได้เป็นเรื่องเป็นราวอะไร ติดต่อกัน แต่การที่จะเป็นเรื่องเป็นราว อะไรติดต่อกันก็ต้องมีความคิดปรุงหรือ ความปรุงคิด ตัวความคิดปรุงหรือความ ปรุงคิดนี้จึงเป็นอัตตาตัวตน และความคิด ปรุงหรือความปรุงคิดนี้ก็มีมาก จึงเรียกว่า สังขารขันธ์ กองสังขาร หรือหมวดสังขาร

อนึ่ง มีความคิดสืบเข้าไปอีกว่าวิญญาณนี่เป็นอัตตาตัวตน วิญญาณนี้หมายถึงใจหรือหมายถึงสิ่งที่จะไปเวียนเกิดก็มี หมายเพียงความรู้สึกเห็นรูป  รู้สึกได้ยิน เสียงในเวลาที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง เป็นต้นก็มี ฝ่ายที่มีความเห็นว่าวิญญาณ เป็นอัตตานั้น ก็ด้วยมีความเข้าใจว่าวิญญาณก็คือใจที่เป็น (ไม่ตาย) ล่องลอยไป ไหนก็ไปได้ เหมือนอย่างเราอยู่ในที่นี้  แต่ ว่าใจล่องลอยไปอยู่ที่โน่นที่นี่ ไปไกลเท่าไร ก็ได้ และไปได้อย่างรวดเร็ว และถ้ายิ่งมี ความเข้าใจว่า  เมื่อตายไปแล้ว วิญญาณ เป็นตัวไปเกิด  ก็ยิ่งจะมีความเห็นกระชับ ลงไปว่า นี่เองเป็นอัตตาตัวตน  และความ เข้าใจของคนโดยมากก็เข้าใจดั่งนี้ คือเมื่อ เรียกว่าวิญญาณก็เข้าใจว่าได้แก่ใจที่ล่องลอยไปไหนได้ หรือว่าเป็นตัวที่จะไปเกิดต่อไป

ในคนเราก็มีสิ่งทั้งห้านี้ คือ มีรูป ได้แก่ มีรูปกายหรือรูปขันธ์ กองรูป มีเวทนาขันธ์ กองเวทนา มีสัญญาขันธ์  กองสัญญา  มี สังขารขันธ์ กองสังขาร  มีวิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ  มีอยู่ด้วยกันทั้งห้า และที่ เข้าใจกันว่าเป็นตัวเป็นตน ก็เข้าใจกันอยู่ที่ สิ่งทั้งห้านี้ ในเวลาที่สิ่งทั้งห้านี้ยังมีอยู่บริบูรณ์ ก็เข้าใจว่ามีตัวตนบริบูรณ์ ถ้าพิการ ก็เข้าใจว่าอัตตาพิการ เช่น ถ้ารูปขันธ์พิการ เสีย อย่างเช่น ตาบอด หูหนวก จมูกไม่ได้ กลิ่น ลิ้นไม่ได้รส กายเป็นอัมพาต ก็หมด เรื่องกันเท่านั้น ถ้ายิ่งสลบไสลไปด้วยเสีย อีกก็ยิ่งไม่รู้อะไร ฉะนั้นเพียงแต่รูปขันธ์ อย่างเดียวเท่านั้นก็เป็นข้อสำคัญ เมื่อยังมี อยู่บริบูรณ์ ทุกๆ คนจึงยังมีความรู้สึกอะไร ต่อมิอะไร คิดอะไรต่อมิอะไรอยู่ได้ อีก ๔ อย่างนั้นก็เหมือนกัน เพราะมีเวทนาอยู่จึง มีความสุขทุกข์หรือไม่สุขไม่ทุกข์อะไรต่างๆ มีสัญญาอยู่จึงมีความจำได้หมายรู้ มี สังขารอยู่จึงมีความคิดปรุงหรือปรุงคิดไป ได้  มีวิญญาณอยู่จึงมีความรู้สึกต่างๆ ถ้า อาการเหล่านี้เสียไปอย่างใดอย่างหนึ่งก็ เป็นความบกพร่อง ถ้าขาดไปเสียทั้งหมด ก็เลยเป็นผู้ที่ไม่มีความรู้สึกอะไรเลย เพราะฉะนั้นที่บุคคลยังมีความรู้สึกเป็นตัว เป็นตนอยู่ มีชีวะอย่างบริบูรณ์  ก็เพราะมี อาการทั้ง  ๕ นี้ประกอบกันอยู่สมบูรณ์ และเป็นไปโดยสะดวกไม่ขัดข้อง ฉะนั้นจึง ยึดถืออาการทั้ง  ๕ เหล่านี้นี่เองเป็นอัตตา ตัวตน  ถ้าหากว่าสิ้นอาการทั้ง ๕ เหล่านี้ ก็ไม่มีอะไรให้ยึดถือ และไม่มีอะไรที่จะให้มี ความคิดในการที่จะให้ยึดถือ ในสมัยพุทธกาลหรือสมัยไหนๆ ก็คงเป็นเช่นนี้ ในปัจจุบันก็เป็นเช่นนี้ และพระปัญจวัคคีย์นั้นก็ ย่อมมีความยึดถืออยู่เช่นนี้อย่างมั่นคงเพราะฉะนั้นเมื่อฟังธรรมจักร ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะจึงได้ดวงตาเห็นธรรมเพียงรูปเดียว เมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมอบรมอีก จึงได้ดวงตาเห็นธรรมจน ครบทั้ง ๕ รูป  แต่ก็ได้เพียงดวงตาเห็น ธรรมเท่ากับว่าเห็นทุกขสัจ ความจริงคือ ทุกข์ขึ้นเท่านั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงแสดง พระสูตรที่  ๒ ชี้ลักษณะของอาการทั้ง ๕ เหล่านี้ว่าเป็นอนัตตา คือมิใช่ตัวตนโดย ชัดเจน

ได้เล่าถึงเรื่องพระผู้มีพระภาคเจ้าทรง แสดง อนัตตลักขณสูตร ได้ย่อความของ พระสูตรนั้น และได้อธิบายเรื่อง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าแต่ละอย่างมี ลักษณะอย่างไร จึงขอสรุปความในตอน นั้นว่า สิ่งทั้งห้าเหล่านั้นแต่ละสิ่งมีมากด้วยกัน  ฉะนั้นจึงเรียกว่า ขันธ์ ที่แปลว่า กอง หรือ หมวดหมู่ คือเรียกว่า รูปขันธ์ กองรูป เวทนาขันธ์ กองเวทนา สั ญญา ขันธ์ กองสัญญา สังขารขันธ์ กองสังขาร วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ รวมเรียกว่า ปัญจขันธ์ แปลว่ากองทั้งห้า   หรือเรียก เป็นภาษาไทยว่า เบญจขันธ์ คำนี้จะได้พบ ในหนังสือทางพระพุทธศาสนาหรือใน เทศนาเป็นอันมาก เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะ กำหนดชื่อไว้และทำความเข้าใจทุกๆ คนเมื่อกล่าวถึงอัตตาตัวตน  โดย ปกติก็จะต้องมุ่งไปที่ปัญจขันธ์นี้ เพราะ เว้นจากปัญจขันธ์นี้แล้ว ก็ไม่มีสิ่งอะไรที่จะ สมมติบัญญัติว่าเป็นอัตตาตัวตน ฉะนั้น ความเข้าใจว่าอะไรเป็นอัตตาตัวตนจึงเข้าใจ กันที่ปัญจขันธ์นี้ และก็ยึดกันที่ปัญจขันธ์นี้ ว่าเป็นอัตตาตัวตน ฉะนั้นจึงมีคำเรียกอีก คำหนึ่งว่า ปัญจอุปาทานขันธ์ ปัญจะก็ แปลว่า  ๕ อุปาทานก็แปลว่าเป็นที่ยึดถือ ขันธ์ ก็แปลว่าขันธ์ แปลรวมกันว่า ขันธ์เป็น ที่ยึดถือ ๕ ประการ คือเป็นที่ยึดถือว่าเป็น อัตตาตัวตนดั่งกล่าว ในพระสูตรนี้พระพุทธเจ้าได้ทรงยกเอาปัญจขันธ์นี้ขึ้นชี้ว่า เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน เป็นการค้านการ ยึดถือของภิกษุปัญจวัคคีย์และของคนทั่วไป ได้ทรงแสดงเหตุผลในข้อนี้ไว้ว่า ถ้าปัญจขันธ์จะพึงเป็นอัตตาตัวตนไซร้ ปัญจขันธ์ก็ จะไม่พึงเป็นเพื่ออาพาธ และใครๆ ก็จะพึง ได้ใน   ปัญจขันธ์ว่า ขอให้เป็นอย่างนี้ ขออย่า ให้เป็นอย่างนั้น แต่เพราะเหตุที่ปัญจขันธ์ เป็นไปเพื่ออาพาธ และใครๆ ก็ไม่ได้ใน ปัญจขันธ์ว่า ขอให้ปัญจขันธ์เป็นอย่างนี้ อย่าเป็นอย่างนั้น ฉะนั้นจึงเป็นอนัตตาไม่ใช่ ตัวตน นี้เป็นเหตุผลที่ทรงชี้ในพระสูตรนี้

คำว่า เป็นไปเพื่ออาพาธ โดยทั่วไปหมายความว่า เป็นไปเพื่อความเจ็บไข้ เพราะอาพาธใช้ในความหมายว่าเจ็บไข้ แต่คำว่า อาพาธ อาจอธิบายให้เห็นความหมายกว้างไปกว่านั้น คือคำว่า อาพาธ แปลว่าเป็นที่ถูกเบียดเบียน  เป็นที่ถูก ทำลายให้หมดสิ้น เมื่อให้คำแปลอย่างนี้ก็ อาจอธิบายให้กว้างออกไปอีกว่า ปัญจขันธ์ เมื่อเกิดขึ้นก็จะต้องถูกความแก่เบียดเบียน ถูกพยาธิคือความป่วยไข้เบียดเบียน ตลอด จนถึงถูกความตายเบียดเบียน รวมความว่า เมื่อเกิดขึ้นมาก็ต้องมีแปรปรวน  เปลี่ยนแปลงไปจนถึงดับในที่สุด ฉะนั้นจึงต้องถูก ความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง  และถูก ความดับเบียดเบียนทำลายล้างให้หมดสิ้น จะพึงเห็นได้ว่ารูปขันธ์ กองรูป  ก็ เปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ ตั้งแต่เกิดมาจน บัดนี้ก็เปลี่ยนแปลงเรื่อยมา  แต่อาศัย บุคคลบริโภคอาหารเข้าไปทำนุบำรุง คอย ซ่อมส่วนที่สึกหรออยู่เสมอจึงรู้สึกมีความ สืบต่อเรื่อยมา แม้แต่ในทางการแพทย์ ปัจจุบันก็รับรองว่า แม้ส่วนที่แข็งที่สุดใน ร่างกาย เช่น กระดูกที่เปลี่ยนไปอยู่ กระดูก เมื่อเกิดกับกระดูกในบัดนี้ก็เป็นคนละส่วน แล้ว ส่วนที่อ่อนกว่านั้น เช่น เนื้อหนัง ก็ ยิ่งจะเปลี่ยนไปได้เร็ว ฉะนั้นรูปขันธ์ก็มี ความเกิดดับอยู่เรื่อยแต่อาศัยที่มี สันตติ คือความสืบต่อ เพราะชีวิตยังดำรงอยู่ จึงยังเป็นมาได้ เวทนาขันธ์  กองเวทนา ปรากฏเกิดดับเห็นได้ชัด อย่างเช่นความ สุขเกิดขึ้นแล้วหายไป ความทุกข์เกิดขึ้น แล้วก็หายไป ความเป็นกลางๆ  เกิดขึ้น แล้วก็หายไป เปลี่ยนกันไปอยู่เสมอ สัญญา ขันธ์ กองสัญญา   ความจำหมายก็เกิดดับ อยู่เสมอ สังขารขันธ์ กองสังขาร คือความ คิดปรุงหรือความปรุงคิดเป็นเรื่องต่างๆ  ก็เกิดดับอยู่เสมอ วิญญาณขันธ์ กอง วิญญาณก็เกิดดับอยู่เสมอ

คราวนี้ควรจะทำความเข้าใจคำว่า วิญญาณ ได้เคยให้ความหมายทั่วๆ ไปไว้ แล้วว่าหมายถึง ใจ หมายถึง สภาพที่จะ ไปเกิดต่อไป หมายถึง ความรู้สึกเห็นรูป ได้ยินเสียงเป็นต้น ที่หมายถึงใจหรือหมายถึงสภาพที่จะเวียนเกิดต่อไปนั้น เป็นความ หมายที่เข้าใจกันอยู่ ที่ใช้กันอยู่โดยทั่วไป แม้ในเรื่องทางพระพุทธศาสนาเองที่เป็น เรื่องเล่า เมื่อเล่าถึงสิ่งที่จะไปเวียนเกิดใช้คำ ว่า วิญญาณ ก็มี  แต่ความหมายในปัญจขันธ์นี้ไม่ใช่หมายความถึงสภาพเช่นนั้น แต่ หมายถึงความรู้สึกเห็นรูป ในเมื่อตากับรูป กระทบกันอันเรียกว่า จักขุวิญญาณ ความ รู้สึกได้ยินเสียงในเวลาที่หูกับเสียงกระทบ กันเรียกว่า โสตวิญญาณ ความรู้สึกได้ กลิ่นในเมื่อฆานะกับกลิ่นกระทบกันเรียกว่า ฆานวิญญาณ ความรู้สึกในรสเมื่อลิ้นกับรส กระทบกัน เรียกว่า ชิวหาวิญญาณ ความ รู้สึกถูกต้องที่กายถูกต้อง ในเวลาที่กายกับ สิ่งที่ถูกต้องกายกระทบกันเรียกว่า กายวิญญาณ ความรู้สึกในเรื่องที่มโนหรือมนะรู้ ในเวลาที่มนะกับเรื่องกระทบกัน เรียกว่า มโนวิญญาณ วิญญาณในปัญจขันธ์หมายถึงวิญญาณ ๖ คือความรู้สึกที่เกิดขึ้นทาง อาตยนะทั้ง ๖ ดั่งกล่าวแล้ว ฉะนั้นความ รู้สึกดั่งกล่าวนี้จึงมีมาก เมื่อตาเห็นรูปเกิด ความรู้สึกเห็นรูปนี้ก็เป็นจักขุวิญญาณ ครั้น หูได้ยินเสียงก็เกิดความรู้สึกได้ยินเสียงขึ้น ก็เป็นโสตวิญญาณเป็นต้น เพราะฉะนั้นจึง มิใช่มีหนึ่ง แต่ว่ามีมาก  จึงเรียกว่าเป็น วิญญาณขันธ์ดั่งที่กล่าวมา วิญญาณขันธ์ที่ มีอธิบายอย่างนี้ก็เป็นสิ่งที่เกิดดับอยู่เสมอ

ฉะนั้น ปัญจขันธ์ จึงเป็นไปเพื่ออาพาธคือต้องถูกเบียดเบียน คือต้องถูกทำลาย ล้างให้สิ้นไป ด้วยอำนาจของความแก่ เจ็บ ตาย หรือว่า เกิด ดับ อยู่เสมอ ใครๆ จะบังคับให้เป็นไปตามปรารถนาไม่ได้ คือ บังคับให้เป็นอย่างนี้ อย่าให้เป็นอย่างนั้น ก็บังคับไม่ได้ อย่างเช่นรูปขันธ์ จะบังคับว่า จะต้องคงอยู่อย่างนั้น อย่าให้เปลี่ยนแปลง ไปเป็นอย่างอื่นก็ไม่ได้ ดังที่จะพึงเห็นได้ว่า เมื่อเกิดมาก็เปลี่ยนแปลงมาจนที่สุด ใครจะ ชอบใจในระยะไหน และปรารถนาจะให้คง อยู่ในระยะนั้นก็ปรารถนาไม่ได้ กองเวทนาก็ เหมือนกัน ก็ย่อมปรารถนาสุข แต่จะบังคับ ให้เป็นสุขอยู่เสมอไม่ได้ ทุกข์ก็เหมือนกัน เมื่อทุกข์เกิดขึ้น  โดยปกติก็ไม่ชอบ แต่ ทุกข์นั้นก็ต้องถูกเบียดเบียนเหมือนกัน คือ ว่าเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องหายไป แล้วเกิด อย่างอื่นขึ้นแทน กองสัญญาก็เหมือนกัน จะบังคับให้จำได้หมายรู้อยู่ตลอดไปก็ไม่ได้ เหมือนกัน กองสังขารคือความคิดปรุงหรือ ความปรุงคิดก็ไม่ได้เหมือนกัน และกอง วิญญาณคือความรู้สึกทางอายตนะดั่งกล่าวมานั้นก็เหมือนกัน บังคับให้เป็นไปตามความปรารถนาไม่ได้ เพราะเหตุที่บังคับไม่ ได้ดั่งกล่าวมานี้ ปัญจขันธ์ต้องเป็นไปเพื่อ อาพาธ ต้องเป็นไปตามคติธรรมดา ฉะนั้น จึงเป็น อนัตตา ไม่ใช่อัตตาตัวตน

ตามลักษณะนี้พึงเห็นว่า สิ่งที่จะเป็น อัตตาตัวตนนั้นก็ควรจะเป็นสิ่งที่ไม่เป็นไป เพื่ออาพาธ เป็นสิ่งที่บังคับให้เป็นไปตาม ปรารถนาได้ ถ้าไม่เป็นเช่นนั้นก็ไม่ชื่อว่า อัตตา ดั่งเช่น       ปัญจขันธ์ ซึ่งเป็นที่ยึดถือว่า เป็นอัตตา เมื่อพิจารณาแล้วก็จะพึงเห็นว่า ไม่ใช่ แต่เป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวตน ด้วย เหตุผลดั่งที่กล่าวมานี้ (พ.พ. ๙-๓๐)