พระประวัติ

BIOGRAPHY

SOMDET PHRA SANGHARAJACHAO KROM LUANG VAJIRANYANASAMVARA

2535-2-025 (10)

QUICK FACTS

ประสูติ 

๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๖

สิ้นพระชนม์
๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖

พระนาม

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร วชิราลงกรณ ราชาภินิษกรมณาจารย สุขุมธรรมวิธานดํารง อริยวงศาคตญาณวิมล สกลมหาสังฆปริณายก ตรีปฎกปริยัติธาดา วิสุทธจริยาธิสมบัติ สุวัฑฒนภิธานสังฆวิสุต ปาวจนุตตมพิสาร วชิรญาณวงศวิวัฒ พุทธบริษัทคารวสถาน วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ วิบุลสีลาจารวัตรสุนทร สรรพคณิศรมหาสังฆาธิบดี ศรีสมณุดมบรมบพิตร

  • วชิรญาณสังวร Sicon

    วชิรญาณสังวร

  • บวรธรรมบพิตร icon

    บวรธรรมบพิตร (พระประวัติ)

  • บวรธรรมบพิตรรูป icon

    บวรธรรมบพิตร (ประมวลพระรูป)

  • พระผู้เจิญพร้อม

    พระผู้เจริญพร้อม

  • พระผู้สำรวมพร้อม

    พระผู้สำรวมพร้อม

  • พระของประชาชน

    พระของประชาชน

  • ที่นี่พระของประชสชน

    ที่นี่...พระของประชาชน

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร

พ.ศ.​ ๒๔๕๖ - พ.ศ. ๒๕๕๖

พระประวัติ

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร มีพระนามเดิมว่า เจริญ นามสกุล คชวัตร ทรงมีพระชาติภูมิ ณ จังหวัดกาญจนบุรี ประสูติเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ ทรงบรรพชาเป็นสามเณรเมื่อพระชนมายุ ๑๔ พรรษา ณ วัดเทวสังฆาราม กาญจนบุรี แล้วเข้าไปอยู่ศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดบวรนิเวศวิหาร จนพระชนมายุครบอุปสมบท จึงกลับไปอุปสมบทที่วัดเทวสังฆาราม กาญจนบุรี และทรงจำพรรษา ณ วัดเทวสังฆาราม ๑ พรรษาแล้วจึงกลับไปทรงทำทัฬหีกรรม ณ วัดบวรนิเวศวิหารเมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๖ โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ประทับอยู่ศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดบวรนิเวศวิหารตลอดมา จนกระทั่งสอบได้เป็นเปรียญธรรม ๙ ประโยค เมื่อพ.ศ. ๒๔๘๔

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ทรงดำรงสมณศักดิ์มาโดยลำดับดังนี้ ทรงเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ พระราชาคณะชั้นราช และพระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามที่ พระโศภนคณาภรณ์ ทรงเป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมวราภรณ์ ทรงเป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองที่ พระสาสนโสภณ ทรงเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร และทรงได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ในราชทินนามที่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ทรงเป็นผู้ใคร่ในการศึกษา ทรงมีพระอัธยาศัยใฝ่รู้ใฝ่เรียนมาตั้งแต่ทรงเป็นพระเปรียญ โดยเฉพาะในด้านภาษา ทรงศึกษาภาษาต่างๆ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน จีน และ สันสกฤต จนสามารถใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดีกระทั่งเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ พระอุปัชฌาย์ทรงเห็นว่า จะเพลินในการศึกษามากไป วันหนึ่ง ทรงเตือนว่า ควรทำกรรมฐานเสียบ้าง เป็นเหตุให้พระองค์ทรงเริ่มทำกรรมฐานมาแต่บัดนั้น และทำตลอดมาอย่างต่อเนื่อง จึงทรงเป็นพระมหาเถระที่ทรงภูมิธรรม ทั้งด้านปริยัติและด้านปฏิบัติ

เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ทรงศึกษาหาความรู้สมัยใหม่อยู่เสมอ เป็นเหตุให้ทรงมีทัศนะกว้างขวาง ทันต่อเหตุการณ์บ้านเมือง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการสั่งสอนและเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก และทรงนิพนธ์หนังสือทางพระพุทธศาสนาจำนวนมากได้อย่างสมสมัย เหมาะแก่บุคคลและสถานการณ์ในยุคปัจจุบัน และทรงสั่งสอนพระพุทธศาสนาทั้งแก่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ ได้ทรงริเริ่มการสอนพระพุทธศาสนาแก่ชาวต่างประเทศขึ้น ณ วัดบวรนิเวศวิหาร นับแต่ทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นเหตุให้มีชาวต่างประเทศจากทุกทวีปนิยมมาบวชและมาศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทยมากขึ้นโดยลำดับ ทั้งได้ทรงประทานบรรพชาอุปสมบทแก่ชาวต่างประเทศจากทุกทวีปจำนวนนับร้อย ยังผลให้พระพุทธศาสนาของไทยเป็นที่รู้จักและแพร่หลายไปทั่วโลกจนทุกวันนี้

ในด้านการศึกษา ได้ทรงมีพระดำริทางการศึกษาที่กว้างไกล ทรงมีส่วนร่วมในการก่อตั้งและพัฒนามหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งแรกของไทย คือ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยมาแต่ต้น ทรงริเริ่มให้มีสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อฝึกอบรมพระธรรมทูตไทย ที่จะไปปฏิบัติศาสนกิจในต่างประเทศ ทรงเป็นพระมหาเถระไทยรูปแรกที่ได้ดำเนินงานพระธรรมทูตในต่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม โดยเริ่มจากทรงเป็นประธานกรรมการอำนวยการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศเป็นรูปแรกเสด็จไปเป็นประธานสงฆ์ในพิธีเปิดวัดไทยแห่งแรกในทวีปยุโรป คือวัดพุทธปทีป ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ทรงนำพระพุทธศาสนาเถรวาทไปสู่ทวีปออสเตรเลียเป็นครั้งแรก โดยการสร้างวัดพุทธรังษีขึ้น ณ นครซิดนีย์ ทรงให้กำเนิดคณะสงฆ์เถรวาทขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย พร้อมทั้งได้ทรงสร้างวัดไทยแห่งแรกขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย คือวัดธรรมทีปาราม เมืองมารัง ทรงช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนาเถรวาทในประเทศเนปาล โดยเสด็จไปให้การบรรพชาแก่ศากยกุลบุตรในประเทศเนปาลเป็นครั้งแรก ทำให้ประเพณีการบวชฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งหนึ่งในเนปาลยุคปัจจุบัน ทรงอุปถัมภ์การสร้างวัดแคโรไลนาพุทธจักรวนาราม สหรัฐอเมริกา ทรงเจริญศาสนไมตรีกับองค์ดาไลลามะ กระทั่งเป็นที่ทรงคุ้นเคยและได้วิสาสะกันหลายครั้ง และทรงเป็นพระประมุขแห่งศาสนจักรพระองค์แรกที่ได้รับทูลเชิญให้เสด็จเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการในประวัติศาสตร์จีน ได้เสด็จไปดูการศึกษาและการพระศาสนาในประเทศต่างๆ กว่า ๒๐ ประเทศ

ในด้านการคณะสงฆ์เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ได้เสด็จไปเยี่ยมวัดและพุทธศานิกชนในทุกภูมิภาค และประธานพระโอวาทแนะนำแก่พระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนอย่างถ้วนหน้าทรงดำเนินการปกดครองไปในทางสมานสามัคคีและมีเมตตาต่อกันในทุกหมู่นิกรสงฆ์ โดยทรงย้ำและทรงนำให้พระภิกษุสามเณรหนักแน่นมั่นคงอยู่ในพระธรรมวินัย เพื่อความสถาพรของพระพุทธศาสนาและศรัทธาของปวงชน อันจะยังผลให้เกิดเป็นความเจริญมั่นคงของสังคมและชาติบ้านเมืองเป็นส่วนรวม

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ทรงเป็นนักวิชาการและนักวิเคราะห์ธรรมตามหลักการของพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่า ธัมมวิจยะ เพื่อแสดงให้เห็นว่า พุทธธรรมนั้นสามารถประยุกต์ใช้กับกิจกรรมของชีวิตได้ทุกระดับ ตั้งแต่ระดับพื้นฐานไปจนถึงระดับสูงสุด ทรงมีผลงานด้านพระนิพนธ์ทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษจำนวนกว่า ๒๐๐ เรื่องประกอบด้วยพระนิพนธ์แสดงคำสอนทางพระพุทธศาสนาทั้งระดับต้น ระดับกลาง และระดับสูง รวมถึงความเรียงเชิงศาสนคดีอีกจำนวนมาก ซึ่งล้วนมีคุณค่าควรแก่การศึกษา สถาบันการศึกษาของชาติหลายแห่งตระหนักถึงพระปรีชาสามารถและคุณค่าแห่งงานพระนิพนธ์ ตลอดถึงพระกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติ จึงได้ทูลถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์เป็นการเทิดพระเกียรติหลายสาขา รวม ๑๓ มหาวิทยาลัย

นอกจากพระกรณียกิจตามหน้าที่ตำแหน่งแล้ว ยังได้ทรงปฏิบัติหน้าที่พิเศษ อันมีความสำคัญยิ่งอีกหลายวาระ กล่าวคือ ทรงเป็นพระอภิบาลในพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ครั้งทรงพระผนวช เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ พร้อมทั้งทรงถวายความรู้ในพระธรรมวินัย ตลอดระยะเวลาแห่งการทรงพระผนวช ทรงเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อครั้งทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เมื่อพ.ศ. ๒๕๒๑

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ไม่เพียงแต่ทรงสร้างศาสนธรรม คือคำสอนมอบไว้เป็นมรดกธรรมแก่พุทธศาสนิกชนและแก่โลกเท่านั้น แต่ยังได้ทรงสร้างวัตถุธรรมอันนำสุขประโยชน์สู่ประชาชนทั่วไป มอบไว้เป็นมรดกของแผ่นดินอีกเป็นจำนวนมาก อาทิ วัดญาณสังวราราม ชลบุรี วัดรัชดาภิเษก กาญจนบุรี วัดวังพุไทร เพชรบุรี วัดล้านนาญาณสังวราราม เชียงใหม่ พระบรมธาตุเจดีย์ศรีนครินทราสถิตมหาสันติคีรี เชียงราย โรงเรียนและโรงพยาบาลสมเด็จพระปิยมหาราชรมณียเขต กาญจนบุรี ตึกสกลมหาสังฆปริณายก ในโรงพยาบาลและโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร ๑๙ แห่ง โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๑๙ ท่าม่วง กาญจนบุรี ตึกวชิรญาณวงศ์,ตึกวชิรญาณ-สามัคคีพยาบาร,ตึก ภปร ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และวัดไทยในต่างประเทศอีกหลายแห่ง

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ทรงดำรงตำแหน่งหน้าที่สำคัญทางการคณะสงฆ์ในด้านต่างๆ มาเป็นลำดับ เป็นเหตุให้ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจเป็นประโยชน์แก่พระศาสนา ประเทศชาติ และประชาชน เป็นอเนกประการ นับได้ว่าทรงเป็นพระมหาเถระที่ทรงเพียบพร้อมด้วยอัตตสมบัติและปรหิตปฏิบัติ และทรงเป็นครุฐานียบุคคลของชาติ ทั้งในด้านพุทธจักรและอาณาจักร

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ทรงเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนตลอดไปถึงในนานาประเทศ ด้วยเหตุนี้ ทางรัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ จึงได้ทูลถวายตำแหน่ง อภิธชมหารัฏฐคุรุ อันเป็นสมณศักดิ์สูงสุดแห่งคณะสงฆ์เมียนมาร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๔ พร้อมทั้งได้ถวายที่ดินบริเวณพระมหาเจดีย์ชะเวดากอง เพื่อสร้างวัดไทยขึ้นในเมียนมาร์ด้วย และที่ประชุมสุดยอดชาวพุทธโลกจาก ๓๒ ประเทศ ณ เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๕ ได้มีมติทูลถวายตำแหน่ง พระประมุขสูงสุดแห่งพระพุทธศาสนาโลก

ถึง พ.ศ. ๒๕๔๓ พระสุขภาพของเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวรถดถอยลง เนื่องจากทรงเจริญพระชนมายุมากขึ้น ไม่อำนวยให้ทรงปฏิบัติพระศาสนกิจต่างๆ ได้โดยสะดวก คณะแพทย์จึงกราบทูลให้เสด็จเข้าประทับรักษาพระองค์ ณ ตึกวชิรญาณ-สามัคคีพยาบาร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ ในช่วงแรกๆ ยังเสด็จกลับไปประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นระยะๆ ครั้งละ ๓-๔ วัน และเสด็จไปสดับพระปาติโมกข์ ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร ทุกวันธรรมสวนะเดือนเพ็ญและเดือนดับ กระทั่งพระสุขภาพไม่อำนวย คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาพยาบาลจึงกราบทูลให้งดการเสด็จไปสดับพระปาติโมกข์ดังกล่าว ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นต้นมา

ถึงวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ พระอาการประชวรโดยทั่วไปทรุดลง คณะแพทย์จึงได้ถวายการผ่าตัดพระอันตะ (ลำไส้) และพระอันตคุณะ (ลำไส้น้อย) หลังการผ่าตัด ทรงมีพระอาการทั่วไปเป็นที่พอใจของคณะแพทย์ ถึงวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๖ เริ่มมีพระอาการความดันพระโลหิตลดลง เป็นลำดับ กระทั่งถึงวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖

คณะแพทย์ได้ออกแถลงการณ์ว่า เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร สิ้นพระชนม์ด้วยพระอาการอับสงบด้วยการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ เวลา ๑๙.๓๐ น. สิริพระชนมายุได้ ๑๐๐ พรรษากับ ๒๑ วัน

วันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ได้เชิญพระศพจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ไปยังพระตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปถวายน้ำสรงพระศพ ณ พระตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร แล้วเชิญพระศพประดิษฐานในพระโกศกุดั่นใหญ่ ภายใต้เศวตฉัตร ๓ ชั้น บนพระแท่นแว่นฟ้าปิดทองประดับกระจก แวดล้อมด้วยฉัตรเครื่องสูง ๓ คู่ ประดับพุ่มตาดทองดอกไม้แจกัน และเทียนไฟฟ้ารายรอบพระโกศบนพระแท่นแว่นฟ้าทั้งสองชั้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมถวายพระศพ ทั้งกลางวันและกลางคืน พร้อมทั้งมีประโคมย่ำยามถวายพระศพ เป็นเวลา ๗ วัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บำเพ็ญพระราชกุศลสัตตมวาร ปัญญาสมวาร และสตมวาร (๓๐ - ๓๑ มกราคม ๒๕๕๗) ถวายพระศพตามราชประเพณีโดยลำดับ

นับแต่ได้เชิญพระศพประดิษฐาน ณ พระตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ เป็นต้นมา ได้มีพระบรมวงศานุวงศ์ คณะรัฐบาล ผู้นำประเทศ ทูตานุทูตประเทศต่าง ๆ และองค์กรศาสนา พร้อมทั้งพุทธศาสนิกชน ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ มาถวายสักการะเคารพพระศพอย่างเนืองแน่นอย่างมิเคยปรากฏมาก่อน

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ประดิษฐานพระศพเพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานวโรกาสให้บุคคล องค์กร สถาบัน และหน่วยราชการ บำเพ็ญกุศลโดยเสด็จพระราชกุศลเป็นเวลา ๒ ปี

ครั้นทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระศพตามควรแก่พระราชประสงค์แล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ เจ้าพระคุณสมเด็จฯในวันที่ ๑๕ - ๑๖ - ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ณ พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระอัฐิในวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๘ พระตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร  

ต่อมา เนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๒ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทร รามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศร ราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาพระอัฐิสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ทั้งนี้ก็โดยที่ทรงพระราชอนุสรณ์คำนึงถึงพระคุณูปการที่สมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นั้น ทรงปฏิบัติบำเพ็ญ ทั้งต่อพระองค์และต่อคณะสงฆ์ พุทธบริษัท ชาติบ้านเมืองเป็นอเนกประการมายาวนาน ถ้าคณนาโดยพระชนมายุ ก็ถึง ๑๐๐ ปี โดยพระสมณฐานันดรที่สกลมหาสังฆปริณายกก็ถึง ๒๔ ปี ซึ่งนับว่ายาวนานกว่า สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใดในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ กล่าวโดยพระสมณกิจอันนับเนื่องในบรมนาถบพิตรสมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นั้น ก็ได้ทรงสนองพระราชกิจจานุกิจอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องมาทั้ง ๒ รัชกาล กล่าวคือ

ในบรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า พระองค์นั้น ก็ได้ทรงปฏิบัติพระสมณกิจ ฉลองพระเดชพระคุณ เริ่มแต่ครั้งเสด็จออกผนวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๙ เป็นต้นมาโดยทรงรับพระภาระเป็นพระอภิบาลและร่วมถวายพระธรรมวินัยใกล้ชิดตลอดระยะเวลาที่ทรงบำเพ็ญเนกขัมปฏิบัติและสมณวัตรจริยาระหว่างที่เสด็จประทับ ณ พระปั้นหย่า วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นเวลา ๑๕ วัน แม้เมื่อทรงลาผนวชเสด็จคืนสู่พระราชภารบริหาร สมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นั้นก็ยังได้ถวายธรรมานุศาสน์ตามกาลานุกาล ถวายพระธรรมเทศนามงคลวิเสสกถาและพระธรรมกถาในการพระราชพิธีมาโดยตลอด สมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นั้นจึงทรงเป็นที่ทรงเคารพบูชาในสมเด็จพระชนกาธิเบศร บรมนาถบพิตร เป็นที่ยิ่ง

ในบรมนาถบพิตร รัชกาลปัจจุบัน สมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นั้น ก็ได้ทรงปฏิบัติพระสมณกิจ ฉลองพระราชกิจจานุกิจมาแต่ครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ นับแต่ทรงเป็นผู้คิดพระนามถวายประกอบพระราชดำริแต่เมื่อแรกพระราชสมภพ ได้ถวายพระอนุศาสนีและพระศาสโนวาทในโอกาสต่าง ๆ แต่ครั้งยังทรงเป็นพระราชกุมาร ทั้งได้เสด็จมาถวายสักการะและทรงสนทนาธรรม ณ วัดบวรนิเวศวิหาร บ่อยครั้ง กระทั่งเสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เมื่อพุทธศักราช ๒๕๒๑ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า พระองค์นั้น ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระญาณสังวร ก็ได้ทรงปฏิบัติหน้าที่เป็นพระกรรมวาจาจารย์และรับภาระเป็นพระอาจารย์ถวายพระธรรมวินัยตลอดเวลาที่ทรงผนวชเสด็จประทับ ณ พระปั้นหย่า วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นเวลา ๑๕ วัน เมื่อทรงลาผนวชแล้ว ก็ยังได้ถวายธรรมานุศาสน์และถวายธรรมกถาตามกาลานุกาลตลอดมา

ด้วยพระสมณกิจและพระสมณวัตรที่สมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นั้น ได้ทรงปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ยาวนานในบรมนาถบพิตรทั้ง ๒ พระองค์ ดังพรรณนามา สมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นั้น จึงทรงเป็นที่ทรงศรัทธาปสาทะและทรงเป็นที่ทรงเคารพบูชาในพระองค์เป็นที่ยิ่ง

เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติยศและเทิดทูนบูชาอย่างสูงสุดกอปรด้วยพระราชศรัทธาปสาทะให้เป็นที่ปรากฏแก่ทวยราษฏร์ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาพระอัฐิ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวง มีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า

            "มเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร วชิราลงกรณ ราชาภินิษกรมณาจารย์ สุขุมธรรมวิธานดำรง อริยวงศาคตญาณวิมล สกลมหาสังฆปริณายก ตรีปิฏกปริยัติธาดา วิสุทธจริยาธิสมบัติ สุวัฑฒนภิธานสังฆวิสุต ปาวจนุตตมพิสาร วชิรญาณวงศวิวัฒ พุทธบริษัทคารวสถาน วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ วิบุลสีลาจารวัตรสุนทร สรรพคณิศรมหาสังฆาธิบดี ศรีสมณุดมบรมบพิตร"

การที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาพระอัฐิสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ครั้งนี้ นับว่าเป็นเหตุการณ์วิเศษอย่างหนึ่งในประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ไทย เพราะไม่เคยมีมาก่อน และนับเป็นแบบธรรมเนียมที่เริ่มมีขึ้นในรัชกาลนี้เป็นปฐม ปวงพุทธบริษัทจึงรับพระบรมราชโองการนี้ไว้เหนือเกล้าด้วยความปิติยินดีเป็นล้นพ้น อันเป็นสิ่งส่องแสดงถึงพระราชหฤทัยที่ฝักใฝ่ในพระพุทธศาสนา ส่องแสดงถึงพระราชเจตจำนงที่จะยอยกพระพุทธศาสนาให้จำรูญวัฒนาและเป็นที่สักการะบูชาของปวงชนชาวไทยตลอดไป

SANGHARAJA ACTIVITIES
  • การประชุมวิชาการ (Conference)
  • นิทรรศการ (Exhibition)
  • กรณียกิจด้านการต่างประเทศ (International)
  • งานพระธรรมทูต
SANGHARAJA CONTENT
  • ห้องสมุดธรรมนิพนธ์ (e-Library)
  • ธรรมเทศนา (Recording)
  • สารคดี วิดีทัศน์ (VDO)
  • ธรรมาภิธาน
  • ABC : Awakening Buddhist Cites
SANGHARAJA EVENT
  • การสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช
  • พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ
  • การสถาปนาพระอัฐิ